2020 ENTERTAINMENT
DUNDARA
2020 Society 2020 Society

"มวยไทย" มรดกทางวัฒนธรรม สู่ศิลปะการป้องกันตัว และเกมส์กีฬา

มวยไทยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน เป็นทั้งการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและเกมส์กีฬา ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด
 
ในอดีตก็ได้มีการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย ไว้ด้วยกันหลายยุคหลายสมัย
ไม่ว่าจะเป็นสมัยอยุธยาที่มีหลักฐานจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในหนังสือศิลปะมวยไทยว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ โปรดการชกมวยมาก จนทรงปลอมพระองค์เป็นสามัญชน เพื่อมาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง ๓ คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง ๓ คน ได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจากฝีมือการชกมวยไทยของพระองค์

ต่อมาก็มีการฝึกมวยไทยกันอย่างแพร่หลายในราชสำนัก และขยายไปสู่บ้านและวัด โดยเฉพาะวัด ซึ่งถือเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยได้เป็นอย่างดี เพราะขุนศึกเมื่อมีอายุมากมักบวชเป็นพระ และสอนวิชาการต่อสู้ให้แก่ลูกศิษย์ที่ดี ด้วยเหตุนี้การฝึกมวยไทยจึงแพร่หลาย และขยายวงกว้างไปสู่สามัญชนมากยิ่งขึ้น
 
และเมื่อครั้งที่นายขนมต้มถูกจับเป็นเชลย ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่กรุงอังวะ ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้จัดให้มีการฉลองชัยชนะ ในการทำสงครามกับไทย สุกี้พระนายกองได้คัดเลือกนายขนมต้มให้ขึ้นชกกับนักมวยพม่า ซึ่งนายขนมต้มสามารถชกชนะนักมวยพม่าได้ถึง ๑๐ คน ดังที่ รังสฤษฎิ์ บุญชลอ กล่าวไว้ว่า "พม่าแพ้แก่นายขนมต้มหมดทุกคนจนถึงกับพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า ๒ ข้าง ก็ยังมีพิษสงรอบตัว" แสดงให้เห็นว่านักมวยไทยมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ
 
ส่วนในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นเจ้าเมืองตาก ได้มีทหารเอกคู่ใจที่มีความสามารถด้านมวยไทยมาก และอยู่ในชั้นแนวหน้าของทนายเลือก ชื่อว่า นายทองดี ฟันขาว หรือจ้อย ชาวเมืองพิชัย ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัย
 
การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒
 
หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๖ มวยไทยได้ถูกพัฒนามากขึ้นโดยมีการชกมวยแบบสวมนวมชก และนับคะแนนแพ้ชนะ มีการกำหนดยก นักมวยแต่งกายตามมุม คือ มุมแดง และมุมน้ำเงิน เช่นเดียวกับการชกมวยสากล มีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายค่าย และมีนักมวยหลายคนที่มีชื่อเสียง คหบดีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ เจ้าเชตุ ได้ตั้งสนามมวยในที่ดินของตนเอง เพื่อนำรายได้จากการชกมวยไปบำรุงกิจการทหาร ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ การแข่งขันชกมวยจึงหยุดไป หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง การแข่งขันชกมวยไทยได้เฟื่องฟูขึ้นอีก เพราะประชาชนสนใจ

ต่อมากีฬามวยไทยมีการพัฒนาจนก่อตั้งเป็นสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้การชกมวยไทยต้องมีเครื่องป้องกันอันตราย เพื่อให้นักมวยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาแข่งขันมากขึ้นในแต่ละปี และมีการถ่ายทอดการชกมวยทางโทรทัศน์มากขึ้นด้วย ทำให้ธุรกิจมวยขยายตัวออกไปกว้างขวาง ในต่างจังหวัดมีเวทีมวยเกิดขึ้นหลายแห่ง เปิดโอกาสให้นักมวยที่มีฝีมือจากต่างจังหวัด เดินทางเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ

เรื่องราวแนะนำ
อัพเดทล่าสุด